การศึกษาวัสดุเพาะและสูตรอาหารที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดโคนน้อย (Coprinopsis radiata)
BCG (Bio-Circular-Green Economy)
Accepted
ข้อมูลโครงงาน
ชื่อ (ภาษาไทย)
การศึกษาวัสดุเพาะและสูตรอาหารที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดโคนน้อย (Coprinopsis radiata)
ชื่อ (ภาษาอังกฤษ)
Study of Suitable Substrates and Culture Media for Cultivation of Inky Cap Mushroom (Coprinopsis radiata)
หน่วยงานที่ร่วมมือ / แหล่งทุนที่ได้รับมาสนับสนุน
ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร
สิ่งที่ต้องการได้รับการสนับสนุนจาก อ.ที่ปรึกษา/คณะ/สถาบัน
-
สิ่งที่ได้จากโครงงาน
บทความวิชาการ/งานวิจัย
บทคัดย่อภาษาไทย
สหกิจศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญของเส้นใยเห็ดโคนน้อยและเพื่อศึกษาวัสดุเพาะที่เหมาะสมของเชื้อโคนน้อยทั้งสองสายพันธุ์ (เห็ดโคนน้อย-01 และเห็ดโคนน้อย-02) โดยบ่มที่อุณหภูมิ 25, 30 และ 35 องศาเซลเซียส สำหรับการศึกษาวัสดุเพาะที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดโคนน้อย โดยเชื้อเห็ดโคนน้อยสองสายพันธุ์ที่ใช้วัสดุเพาะที่แตกต่างกันได้แก่วัสดุเพาะขี้เลื่อย 5 สูตรและฟางข้าว 5 สูตร ทำการวัดปริมาณน้ำหนักสด จำนวนดอก เส้นผ่านศูนย์กลางและความยาวของก้านดอกเห็ด พบว่า วัสดุเพาะที่เหมาะสมของเห็ดโคนน้อย-01 ได้แก่ ฟางข้าวสูตรที่ 2 โดยให้ปริมาณผลผลิตน้ำหนักรวม 316 กรัม จำนวนดอก 190 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.44 เซนติเมตร และความยาวของก้านดอกเห็ด 5.40 เซนติเมตร ในขณะที่วัสดุเพาะฟางข้าวสูตรที่ 3 เหมาะสมสำหรับการเพาะเห็ดโคนน้อย-02 มากที่สุด โดยให้ปริมาณผลผลิตน้ำหนักรวม 223 กรัม จำนวนดอก 206 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.53 เซนติเมตร และความยาวของก้านดอกเห็ด 5.78 เซนติเมตร ดังนั้น จากผลการศึกษานี้สามารถสรุปได้ว่าสภาวะอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญของเส้นใยเห็ดโคนน้อยอยู่ในช่วง 30 – 35 องศาเซลเซียส และวัสดุเพาะฟางข้าวมีความเหมาะสมต่อการนำมาผลิตก้อนเชื้อเห็ดโคนน้อยมากที่สุด
คำสำคัญภาษาไทย
เห็ดโคนน้อย, การเพาะเห็ด, วัสดุเพาะ
บทคัดย่อภาษาอังกฤษ
This cooperative education aimed to investigate the optimal conditions for growth of the mushroom and to study optimal cultivating substrates for the mushroom. Investigation to study the appropriate cultivation materials for the two strains of Ink Cap Mushroom (Ink Cap Mushroom-01 and Ink Cap Mushroom-02) was done by incubation of spawn at 25, 30 and 35 ๐C. Two strains of Ink Cap Mushroom germinated has a different culture medium, including 5 formulas of sawdust and 5 formulas of rice straw. The studied parameters were comprised of fresh mushrooms total weight, number of mushrooms, diameter and length of mushroom stems. Total weight of fresh mushrooms of Ink Cap Mushroom-01 showed the highest yield (316 g), 190 of mushroom diameter 1.44 cm and length of mushroom stem 5.40 cm. when cultivated on rice straw formulas 2. On the other hand, the highest yield of Ink Cap Mushroom-02 (223 g), 206 of mushroom, diameter 1.53 cm. and length of mushroom stem 5.78 cm. was obtained when cultivated on the formulas 3 of rice straw. The results of this study provided, that optimal condition for growth of the mushroom was 30-35 ๐C and rice straw cultivation material is most suitable substrates for the mushroom production.
คำสำคัญภาษาอังกฤษ
Ink Cap Mushroom
Mushroom cultivation, Suitable substrates
วัตถุประสงค์ของโครงงาน
1. เพื่อศึกษาอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญของเชื้อเห็ดโคนน้อยบนอาหาร PDA
2. เพื่อศึกษาวัสดุเพาะที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดโคนน้อย
3. เพื่อศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดโคนน้อย
ที่มาและความสำคัญ หรือ เหตุผลที่ทำโครงงานนี้
เห็ดโคนน้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coprinopsis radiata จัดอยู่ในตระกูลเห็ด Basidiomycetes โดยเห็ดในสกุลนี้เป็นเห็ดที่มีวงจรชีวิตสั้นมากไม่เกิน 36 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่ที่พบ คือ ประมาณ 24 ชั่วโมง เมื่อดอกเห็ดแก่ ครีบและหมวกเห็ดจะย่อยสลายตัวเอง (autolysis) เป็นหยดสีดำมีลักษณะคล้ายน้ำหมึก (Laessoe, 2013) เห็ดโคนน้อยเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเพาะปลูกง่าย ต้นทุนต่ำ แต่ได้ผลผลิตจำนวนมาก เป็นเห็ดที่ให้ผลผลิตในระยะเวลา 5-10 วัน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีปริมาณไขมันต่ำมาก หรืออาจจะไม่มีเลย มีปริมาณน้ำตาลและโซเดียมเพียงเล็กน้อย แต่อุดมไปด้วยโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพร่างกาย ทั้งยังช่วยควบคุมความหิวโดยมีสารที่ปรับสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดทำให้ความหิวลดลง หากใครต้องการลดน้ำหนัก หรือ ลดความอ้วน การทานเห็ดโคนน้อยเป็นประจำจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่ได้คุณประโยชน์ครบ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว ป้องกันเบาหวาน ฟื้นฟูการทำงานของตับและเพิ่มประสิทธิภาพของสมองช่วยในเรื่องความจำ (สมจิตร, 2552)
การเพาะเห็ดโคนน้อยสามารถใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลากหลายชนิดมาเพาะได้ เช่น ฟางข้าว ต้นและใบถั่วต่าง ๆ ต้นและซังข้าวโพด ทะลายปาล์มน้ำมัน ต้นและใบกล้วย ผักตบชวาที่นำมาหมักให้ย่อยสลายบางส่วน ซึ่งสามารถที่จะนำมาเป็นวัสดุเพาะได้ทั้งสิ้น และเป็นวัสดุเพาะที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น การเพาะเพื่อการบริโภคในครัวเรือนสามารถทำได้ง่ายๆโดยวิธีการเพาะแบบกอง ไม่จำเป็นต้องเพาะในโรงเรือนเพาะเห็ด โดยปกติ 4-5 วัน เส้นใยเห็ดจะเจริญได้ทั่วทั้งวัสดุเพาะ สำหรับการดูแลรักษาโดยทั่ว ๆ ไป หลังการเพาะจะต้องดูแลเรื่องศัตรูพืช เช่น มด ไรไม่ให้มารบกวน (ปริญญา, 2549) เห็ดโคนน้อยขายได้ในราคาขีดละ 20-50 บาท หรือกิโลกรัมละ 100-200 บาท เมื่อทำการเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้วควรรีบนำไปตัดแต่ง ทำความสะอาด หากปล่อยทิ้งไว้ ดอกเห็ดจะบานและกลายเป็นสีดำอย่างรวดเร็วเนื่องจากเห็ดมีการสลายตัว หากถ้าต้องการยืดอายุในการเก็บรักษา ควรเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 8-10 องศาเซลเซียส และสามารถเก็บในรูปเห็ดสดจะช่วยคงสภาพไม่ให้มีการสลายตัวเป็นน้ำหมึกได้นานยิ่งขึ้น
ปัจจุบันการเพาะเห็ดโคนน้อยยังมีวัสดุเพาะและสูตรอาหารในการเพาะยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากเกษตรกรที่เพาะเห็ดโคนน้อยมักพบปัญหาในเรื่องของผลผลิตที่ได้จากการเพาะยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาดเท่าไรนัก ดังนั้นการทดลองนี้จึงสนใจศึกษาวัสดุเพาะและสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการเพาะเห็ดโคนน้อยโดยเลือกใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ได้แก่ ฟางข้าวและขี้เลื่อย โดยนำเชื้อเห็ดโคนน้อยทั้ง 2 สายพันธุ์ (เห็ดโคนน้อย-01 และเห็ดโคนน้อย-02) มาเปรียบเทียบปริมาณผลผลิตที่ได้ของวัสดุเพาะและสูตรอาหารที่ต่างกัน เพื่อคัดเลือกเชื้อเห็ดโคนน้อยที่ให้ผลผลิตสูงและมีลักษณะตามที่ดี เช่น น้ำหนักสด จำนวนดอกเห็ด ความกว้าง ให้ตรงต่อความต้องการของเกษตรกรเพื่อนำไปจำหน่ายแก่ตลาด และผู้บริโภค
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการทำโครงงานนี้
1. ทราบอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญของเชื้อเห็ดโคนน้อยบนอาหาร PDA
2. ทราบวัสดุเพาะที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดโคนน้อย
3. ทราบสูตรอาหารที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดโคนน้อย
Information
ประเภทโครงงาน
BCG (Bio-Circular-Green Economy)
Tags
-
ปีการศึกษา
2566
วันที่สร้าง
15 ธันวาคม 2566, 15:28
วันที่แก้ไขล่าสุด
19 ธันวาคม 2566, 15:13
สร้างโดย
ฉัตรแก้ว มั่งคั่ง (63050455@kmitl.ac.th)
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีรูปภาพ
สมาชิกโครงงาน
C
นางสาวฉัตรแก้ว มั่งคั่ง
สมาชิกโครงงาน
S
รศ.ดร.สรัญญา พันธุ์พฤกษ์
หัวหน้าโครงงาน
T
นางสาวธนพร สุราฤทธิ์
สมาชิกโครงงาน
หากพบปัญหาในการใช้งานสามารถติดต่อได้ที่ Line Official: @acadkmitl
2023 KMITL Innovation Project. | Version: 2.2.2